ภาษาโปรแกรม Python คืออะไร ?
Python (ไพทอน) คือหนึ่งในภาษาโปรแกรมระดับสูงที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ถูกออกแบบเพื่อให้มีโครงสร้างและ ไวยากรณ์ของภาษาที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย มีการใช้พัฒนาแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ รวมถึงแอปบนมือถือหรือ อุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วย หน้าที่ของ Python ก็คือการทำงานแปลชุดคำสั่งทีละบรรทัดเพื่อป้อนเข้าสู่หน่วยประมวลผล ให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่เราต้องการ หรือเรียกว่าการทำงานแบบ Interpreter นั่นเอง ด้วยภาษาที่ง่ายในการเขียน “Python” จึงมีความเหมาะสมสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเขียนโปรแกรมไปจนถึงนักพัฒนาในองค์กรบริษัทใหญ่ อย่างเช่น Netflix, Spotify, Google, Amazon, และ Facebook เป็นต้น

แล้วสรุปมันง่ายยังไง ?
อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงต้นว่า Python ถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการเขียน อ่าน และเรียนรู้ เรามาดูกันเลยว่ามันง่ายยังไง
“ง่ายต่อการเรียนรู้”
เมื่อเปรียบเทียบ Python กับภาษาอื่นๆอย่างเช่น Java ถือว่า Python เป็นภาษาที่ง่ายที่สุดในการเรียนรู้ เป็นการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ (Object Oriented Programming) ที่มีการใช้งานง่ายประกอบกับมีตัวแปรและ ไวยากรณ์ที่ถูกออกแบบมาให้ตีความกระชับและง่ายกว่า แถมการใช้ code และการเขียน script ก็สั้น จนสามารถประหยัดเวลาได้มากเลยทีเดียว ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆในการเขียนภาษาโปรแกรมนี้กัน เมื่อคุณอยากเขียนโปรแกรมง่ายๆให้มีการแสดงออกมาทางหน้าจอว่า “hello world!”

เปรียบเทียบภาษา Java และ ภาษา Python เห็นได้ว่า Python มีความสั้นกระชับในการเขียน Code ออกมา และหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นโครงสร้างที่ออกมาในรูปแบบไม่ซับซ้อนเกินไปนี้ก็จะทำให้ง่ายที่จะระบุและ จัดการถึงข้อผิดพลาด ทำให้ประหยัดเวลาลงไปเยอะเลยทีเดียว
“ง่ายต่อการนำไปใช้งาน”
ความต้องการในตลาดแรงงานสูง
ในยุค Double Disruption หรือ ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงแบบนี้ สกิลที่จะเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานได้อย่างง่ายดายนั่นคือ
การเขียนโปรแกรม ก้าวแรกของการเรียน Python ถือเป็นการอัปเกรดสกิลในตัวคุณเองได้ดีเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นงานในสาย Data science และ Machine learning รวมไปถึงองค์กรขนาดใหญ่ระดับโลกอย่าง Netflix, Uber, Instragram และ Spotify ก็ยังนำภาษา Python ไปใช้สร้างแอพลิเคชันของตัวเองด้วย และด้วยความที่ Python เป็นภาษาที่สามารถใช้ได้หลายอย่าง จึงง่ายในการปรับและ นำไปใช้จริงในบริษัทต่างๆ

หลากหลาย Platform
ภาษาโปรแกรมนี้เองก็ยังสามารถใช้ได้หลากหลาย Platform ด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็น Microsift Windows, Unix, Linux และ Mac Os เป็นต้น ดังนั้นขอบเขตของการพัฒนาโปรแกรมจึงกว้าง ทำให้เป็นที่นิยมอย่างมากและถูกใช้งานอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างที่เราพอจะรู้จักอย่างเช่น เกมส์ The Sims 4 ที่ นำ Python ไปสร้าง mod หรือนอกเหนือจากการพัฒนาในด้าน Data Science แล้วก็ยังถูกใช้ในเรื่องของ AI ที่วิเคราะห์รูปภาพต่างๆ ด้วย
Community ใหญ่ Library เยอะ
เนื่องจากเป็นภาษาโปรแกรมที่ได้รับความนิยมทั่วทุกมุมโลกเกิดผู้ใช้งาน Python เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้พัฒนา Library ขึ้นมาแบ่งปันให้ได้นำไปใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมไป ถึงการติดขัดปัญหาตรงไหนก็ยังสามารถสอบถามหรือหาข้อมูลคำตอบได้อย่างง่ายดายนั่นเอง
ปรับเข้ากับศาสตร์อื่นได้ง่าย
ด้วยความสามารถของ Python ที่สามารถประมวลผลและถ่ายทอดงานที่ซับซ้อนออกมาได้เป็นอย่างดี และยังมี Library ที่สนับสนุนอยู่มาก จึงเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่นิยมนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์แขนงอื่นๆได้อย่างง่ายดาย เช่น Machine learning Project อย่างการสร้าง emoji หน้าตัวเองด้วย Python หรือการ run code AI ก็จะมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น รวมไปถึงการนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล Python ก็สามารถเป็นเครื่องมือหลักในการตอบคำถามต่างๆออกมาได้อย่างง่ายดายเลย
เราควรจะเลือกศึกษาเวอร์ชัน Python 2.x หรือ Python 3.x?
ในปัจจุบันภาษาโปรแกรม Python มีเวอร์ชันให้เลือกใช้งานคือ Python 2.x และ Python 3.x ซึ่งเผยแพร่มาตั้งแต่ในปี 2000 และ 2008 ตามลำดับ โดยระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ เวอร์ชันล่าสุดคือ Python 2.7.15 และ Python 3.7.2 สำหรับปัญหาทั่วไปของผู้เริ่มต้นศึกษาการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python คือการตัดสินใจเลือกใช้งานระหว่างเวอร์ชัน Python 2.x หรือ Python 3.x แต่ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ ผู้เขียนอยากจะขออธิบายพื้นฐานของหมายเลขเวอร์ชัน เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างสองเวอร์ชันนี้ก่อน โดยหลักการมาตราฐานการตั้งหมายเลขเวอร์ชันของซอฟต์แวร์ (Semantic Versioning) เป็นการกำหนดขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงเวอร์ชันต่าง ๆ ซึ่งมีรูปแบบประกอบด้วยหมายเลข 3 หลัก คือ X.Y.Z ทำให้ผู้ใช้งานสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงเวอร์ชัน เพื่อให้ซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้เป็นปกติ และรองรับฟีเจอร์ใหม่ๆ ได้ในอนาคต

Major
คือเวอร์ชันการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่ม API หลักจำนวนมาก และไม่รองรับการเรียกใช้งาน API จากเวอร์ชันเก่าได้ ทำให้ชุดคำสั่งของทั้งเวอร์ชันใหม่และเวอร์ชันเก่าไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ตัวอย่างเช่น ชุดคำสั่งของเวอร์ชัน Python 2.x จะไม่สามารถนำมาใช้งานในเวอร์ชัน Python 3.x ได้
Minor
คือเวอร์ชันการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มฟังก์ชันการทำงานใหม่เพียงเล็กน้อย โดยไม่กระทบการทำงานของชุดคำสั่งเวอร์ชันปัจจุบันที่ใช้งานอยู่ (Backward compatibility) ตัวอย่างเช่น หากในปัจจุบันเราใช้งานเวอร์ชัน Python 3.7.2 เมื่อมีการพัฒนาเวอร์ชันใหม่เป็น Python 3.8.0 ในอนาคต ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดเพื่อติดตั้งใช้งานได้โดยไม่กระทบการทำงานของเวอร์ชันเดิมแต่อย่างใด
Patch
คือเวอร์ชันการปรับปรุงการทำงานหรือแก้ไข Bugs ต่าง ๆ ของเวอร์ชันหลักปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น หากมีการพัฒนาเวอร์ชันใหม่เป็น Python 3.7.3 ในอนาคต ผู้ใช้งานสามารถนำใช้งานได้โดยไม่กระทบการทำงานของเวอร์ชันเดิม
สำหรับเหตุผลที่ภาษาโปรแกรม Python ได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงหลักจากเวอร์ชัน Python 2.x ไปเป็น Python 3.x เนื่องจากมีความต้องการที่จะปรับปรุงและแก้ไขข้อเสียของเวอร์ชันเดิมที่สะสมมานาน เนื่องจากเป็นเวอร์ชันที่ออกแบบและพัฒนามาตั้งแต่ปี 2000 เพราะว่าถ้าหากต้องการที่จะแข่งขันกับภาษาโปรแกรมต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงภาษาโปรแกรมที่เกิดขึ้นใหม่ ที่พยายามแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการเขียนโปรแกรมให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีการขัดเกลาและเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงหลักในเวอร์ชัน Python 3.x สามารถแบ่งออกเป็นประเด็นต่าง ๆ เช่น โครงสร้างและไวยกรณ์ของภาษา โมดูลมาตรฐาน ชนิดของข้อมูล และโครงสร้างข้อมูล เพื่อให้เวอร์ชันใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากยังคงมีผู้ใช้งานเวอร์ชันเก่าจำนวนมาก และโมดูลไลบรารี่ต่าง ๆ ยังไม่รองรับกับเวอร์ชันใหม่ ดังนั้นการจะเปลี่ยนไปใช้งานเวอร์ชันใหม่ในทันทีจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะโครงการที่มีขนาดกลางและขนาดใหญ่ จึงทำให้ยังคงมีการสนับสนุนและการแก้ไข bugs ต่าง ๆ ของเวอร์ชัน Python 2.x ต่อไปอีกสักพัก
ดังนั้นสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ตัดสินใจเลือกเวอร์ชัน Python 3.x ไปเลย เนื่องจากเวอร์ชัน Python 2.x จะไม่มีการเพิ่มเติมฟีเจอร์และฟังก์ชันใหม่ใด ๆ และจะได้รับการสนับสนุนไปจนถึงวันที่ 1 เดือนมกราคมปี 2020 เท่านั้น ส่วน Python 3.x จะมีการพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชันใหม่เพิ่มเติมอีกในอนาคต ส่วนโมดูลและไลบรารีต่าง ๆ ในปัจจุบัน สามารถรองรับการทำงานของเวอร์ชัน Python 3.x ได้แล้ว นอกจากนั้นผลแบบสอบถามจาก Python Developers Survey 2018 รายงานว่านักพัฒนาได้ทำการได้เปลี่ยนมาใช้เวอร์ชัน Python 3.x ถึง 84% แล้ว

Hello, world with Python
สำหรับก้าวแรกของการเข้าสู่โลกของการเขียนโปรแกรมหรือการเรียนเขียนโปรแกรมภาษาใหม่ สิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติก็คือการให้คอมพิวเตอร์แสดงประโยค “hello, world” ผ่านทางหน้าจอ ด้วยเหตุผลเพราะว่าเป็นโปรแกรมที่มีขนาดเล็กมาก มีความง่าย และสามารถเขียนได้ทุกภาษา จึงเหมาะสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น เพื่อทำความคุ้นเคยกับกระบวนการเขียนโปรแกรมเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นยังเป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าโปรแกรมที่ได้ถูกติดตั้งเพื่อใช้ในการเขียนโปรแกรมมีการทำงานอย่างถูกต้อง
สำหรับการเขียนโปรแกรม hello, world ด้วยภาษาโปรแกรม Python ในบทความนี้ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมใหม่ใด ๆ โดยสามารถทำตามขั้นตอนง่าย ๆ ได้ดังนี้
1) เปิดโปรแกรมเว็บบราวเซอร์และเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์หลักทางการ
https://www.python.org/
2) ให้คลิกไปยังปุ่มที่มีเครื่องหมาย >_ จากนั้นระบบจะทำการรัน Interactive shell ขึ้นมาเพื่อใช้งาน

3) ขั้นตอนต่อไปให้พิมพคำสั่ง print (“hello, world”) ที่บริเวณคอนโซลดังภาพ จากนั้นกดปุ่ม Enter เพื่อแสดงผลลัพธ์ เป็นอันว่าเราได้เข้าสู่โลกของการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python แล้วครับ
ที่มา:
https://blog.skooldio.com/what-is-python/
https://www.9experttraining.com/articles/python-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3